October 3, 2022

Dividend Stock กับการเอาชนะเงินเฟ้อ

จำเป็นหรือไม่ที่ต้องชนะเงินเฟ้ออยู่เสมอ... ถ้าแพ้ล่ะจะเป็นอย่างไร วันนี้เราจะชวนเปิดมุมมองในบริบทของการลงทุนในหุ้นปันผล หรือ Dividend Stock กันทีละประเด็น
ลงทุนในหุ้นปันผล (Dividend Stock) = Value Investment ?

ถ้าถามคำถามนี้ไปคงมีทั้งความเห็นที่ตรงกันและความเห็นต่าง ผู้เขียนจึงขอยกแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาเปิดประเด็นชวนคุยกัน

มีผู้รู้ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ในเว็บไซต์ efinancethai ว่า หัวใจสำคัญของการลงทุนแบบ VI คือ การตอบคำถามกับตัวเองให้ได้ว่าต้องซื้ออะไร และ ซื้อที่ราคาเท่าไหร่ ซึ่งสองคำถามนี้เปรียบเหมือนยอดเขาน้ำแข็งเหนือผิวน้ำ ส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำก็จะเป็นการวิเคราะห์เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ทั้งในแง่การวิเคราะห์ธุรกิจจากรายงานประจำปี แนวโน้มทางธุรกิจ สภาพการแข่งขันทั้งในตอนนี้และอนาคต ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพเพื่อให้รู้ว่า "ต้องซื้ออะไร"

และการวิเคราะห์เชิงปริมาณเพื่อประเมินมูลค่าหุ้นทั้งในปัจจุบัน (Present Value หรือ PV) และอนาคต (Future Value หรือ FV) จากข้อมูลในงบการเงินทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ งบดุล, งบกำไรขาดทุน, งบกระแสเงินสด เพื่อให้เข้าใจถ่องแท้ว่าสิ่งที่เราซื้อมานั้นหน้าตาเป็นยังไงและ "ระดับราคาเท่าไหร่" ถึงจะเรียกว่าสมเหตุสมผล

และเมื่อเราหาคำตอบได้ครบทั้งสองข้อแล้ว ก็อยากจะขอชวนทุกท่านหายใจเข้าออกลึกๆ แล้วตรึกตรองให้ดีถึงช่วงเวลายากลำบากในการหาเงินก้อนนี้มาก่อนตัดสินใจ แล้วจะพบว่าเราลืมอีกหนึ่งคำถามไป ซึ่งคำถามที่ว่าคือ "ซื้อเพื่ออะไร"

สำหรับคำถามนี้ผู้รู้ท่านนั้นไม่ได้กล่าวถึงแนวทางหาคำตอบเอาไว้ ผู้เขียนจึงขอแชร์มุมมองส่วนตัว จั่วประเด็นคุยกันว่าอาจจะต้องพิจารณาในเชิงปริมาณถึงราคาหุ้นจริงที่หน้ากระดาน เทียบกับมูลค่าหุ้นปัจจุบัน (Present Value) ที่เราคำนวณได้เพื่อให้รู้ว่าราคาปัจจุบันนั้นถูกหรือแพงแค่ไหน

จากนั้นประเมินผลตอบแทนเป้าหมายโดยมองเทียบระหว่างมูลค่าหุ้นในอนาคต (Future Value) หรือราคาเป้าหมายที่คำนวณได้ เทียบกับความชัดเจนและเป็นไปได้ของโครงการในอนาคตของธุรกิจ เพื่อให้รู้ว่า Future Value ที่คำนวณออกมานั้นมีโอกาสเป็นไปได้มากแค่ไหน

ซึ่งหลัก ๆ ประเภทของผลตอบแทนเป้าหมายจะประกอบไปด้วย ส่วนต่างจากการเติบโตของราคาหุ้น และ เงินปันผลต่อหุ้น (ในกรณีที่ลงทุนในหุ้นปันผล หรือ Dividend Stock)

สุดท้ายเมื่อเรารู้ว่าต้องซื้ออะไร ซื้อราคาเท่าไหร่ และซื้อเพื่ออะไร เราจะเห็นภาพชัดเลยว่า ควรซื้อหรือไม่นั่นเองครับ

Value Investment กับ Dividend Stock ในแบบของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เพื่อเอาชนะอัตราเงินเฟ้อ

วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เป็นบุคคลที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็น "เจ้าพ่อตลาดหุ้นที่เน้นลงทุนแบบเน้นคุณค่า"  โดยเขามองการเติบโตของตลาดหุ้นจากการเติบโตของ GDP บวกกับ อัตราเงินเฟ้อ  และก็นำตัวเลขที่ได้ มาบวกกับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของหุ้น Dividend Stock ขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เพื่อหาเปอร์เซ็นต์ผลตอบแทนรวมจากการลงทุนในที่สุด

ซึ่งเราสามารถตีความแนวคิดนี้จากบริบทของประเทศไทยได้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยอัตราเงินเฟ้อล่าสุดคือ 7.66% บวกกับ GDP ล่าสุดโตที่ 2.2 % เท่ากับว่า การเติบโตของราคาหุ้นควรตั้งเป้าเอาไว้ที่ 9.86%  และสำหรับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยของ SET ในปี 2021 อยู่ที่ 2.6% (Estimated) ก็เท่ากับว่าอัตราผลตอบแทนเป้าหมายของการลงทุนรวมในปี 2022 จะอยู่ที่ 9.86% + 2.6% = 12.46 %

ทั้งนี้ตัวเลขรวมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อมีการประกาศอัพเดทเงินเฟ้อและ GDP มุมมองในเรื่องนี้ก็ขึ้นกับวิจารณญาณของนักลงทุนว่าจะใช้ตัวเลขจากฐานไหนในการคำนวณ อาจใช้ตัวเลขจากฐานข้อมูลปี 2021 ทั้งหมด หรือ ตามตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น

ทำความเข้าใจ Value Investment ในบริบทในอดีตของ NER – North East Rubber PLC

ถ้ายก NER เป็น Case Study ในฐานะของหุ้นปันผล หรือ Dividend Stock เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ อย่างแรกต้องยกเหตุการณ์จริงมาวางเป็นกรอบก่อนดังนี้

หากเข้าซื้อหุ้น NER ในวันที่ 19 เม.ย. 2021 ณ ราคาเปิด ที่ 5.30 บาท ซึ่งตอนนั้นอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.93% GDP ขยายตัวที่ 7.5 % อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล 2021 (Estimated) ของกลุ่ม Food and Agriculture อยู่ที่ 2.3 %

เท่ากับว่าแผนการลงทุนในครั้งนี้มีเป้าหมายผลตอบแทนรวมอยู่ที่ 12.73 % คิดมาจาก

ผลตอบแทนจากการเติบโตของราคาหุ้นที่คาดหวัง คือ 2.93% + 7.5% = 10.43%

บวกกับ

อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ 2.3%

เมื่อเทียบเป้าหมายกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

หากซื้อ - วันที่ 19 เม.ย. 2021 ที่ราคาเปิด 5.30 บาท / หุ้น

หากขาย - วันที่ 20 เม.ย. 2022 ที่ราคาเปิด 6.85 บาท / หุ้น

จะได้ส่วนต่างจากการเติบโตของราคาหุ้นเท่ากับ 1.55 บาท / หุ้น หรือคิดเป็นกำไร 29% ของเงินลงทุน

โดยระหว่างทางมีการจ่ายเงินปันผลทั้งหมด 3 ครั้ง (0.15บ./หุ้น, 0.07บ./หุ้นและ0.36บ./หุ้นตามลำดับ) รวมเป็น 0.58 บาท / หุ้น หรือคิดเป็น 10.94% ของเงินลงทุน

ดังนั้น ผลตอบแทนรวมของโครงการลงทุนนี้ในระยะเวลา 1 ปี จึงรวมเป็น 2.13 บาท/หุ้น หรือคิดเป็น 40.18% ของเงินลงทุน

ก็เท่ากับว่าการลงทุนในครั้งนี้ได้เอาชนะอัตราเงินเฟ้อและได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเป้าหมายเป็นที่วางไว้เป็นที่เรียบร้อย

จำเป็นมั้ยที่ต้องชนะเงินเฟ้ออยู่เสมอ... แพ้บ้างได้มั้ย ?

จริง ๆ แล้ว ที่มาของตัวเลขเงินเฟ้อที่เราได้เห็นตามข่าว ก็มีที่มาจากราคาสินค้าในท้องตลาด

ชี้วัดโดยการเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการในวันนี้เทียบกับราคาเมื่อ 1 ปีก่อน สำหรับค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เราเรียกว่า "เงินเฟ้อ" โดยมีกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลราคาสินค้าและบริการจำนวน 430 รายการเพื่อนำมาคำนวณ

สำหรับสินค้าหลักที่มีผลต่อการคำนวณตัวเลขเงินเฟ้อ คือ ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานที่มีสัดส่วนถึง 61.83% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. จากการเติบโตของราคาที่เกิดขึ้น

พอเข้าใจแบบนี้ ก็ทำให้เรารู้เลยว่าทำไมตัวเลขเงินเฟ้อถึงสูงขึ้นมากถึง 7.66% นั่นเพราะเค้าคำนวณจากราคาสินค้าของฐานปี 2021 ซึ่งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถูกกว่า ณ ปัจจุบันเกือบเท่าตัว!

ในขณะที่เป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย มีความตั้งใจให้กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายอยู่ที่ 1-3% เท่านั้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว เพราะการที่เงินเฟ้อสูงมากเกินไปก็จะเกิดสภาวะที่เรียกว่า "Hyper Inflation" ที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อของได้น้อยลง เจ้าของกิจการขายของได้น้อยลง สุดท้ายก็ต้องลดขนาดกิจการและไล่คนออกในที่สุด

แต่ถ้าหากเงินเฟ้อต่ำมากหรือติดลบ เราจะเรียกว่าเงินฝืด เป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคไม่ค่อยอยากจับจ่าย

พอขายของไม่ได้ก็ต้องลดราคาสินค้าลงก็จะทำให้เจ้าของกิจการได้กำไรน้อยลง สุดท้ายก็จะลดขนาดกิจการและปิดตัวลงไปในที่สุด

ซึ่งที่ผู้เขียนกล่าวมาคือในภาพกว้าง แต่ถ้าเป็นภาพในระดับคนใช้ชีวิตปกติทั่วไป การที่เกิดเงินเฟ้อ ก็จะส่งผลต่อเงินในกระเป๋าที่เราต้องใช้จ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าและต้องรัดเข็มขัดให้มากขึ้นนั่นเอง

หลังจากที่ทำความเข้าใจ "เงินเฟ้อ" กันแล้ว ก็กลับมาที่คำถามว่า "จำเป็นมั้ยที่ต้องชนะเงินเฟ้อเสมอไป..แพ้บ้างได้มั้ย" คำตอบคงมีมากมายหลายหลากขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละท่าน

สำหรับผู้เขียนคงมอง "การเอาชนะ" เป็นเรื่อง "Nice to have" ที่ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะ "ส่วนหนึ่ง" ผู้เขียนมองตัวเลขนี้เป็นเรื่องมายาคติที่จับต้องไม่ได้แต่ใช้ชี้วัดและกำหนดวิธีการใช้ชีวิตได้

มันทำให้เราไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่และรู้จักจะใช้มันเพื่อตั้งเป้าหมายในการลงทุน (ไม่ว่าจะลงทุนใน Dividend Stock, หลักทรัพย์อื่นๆหรือการทำธุรกิจก็ตาม) ในวันที่เราเอาชนะได้ก็ถือว่าดี แต่ถ้าแพ้ก็ไม่เป็นไรไม่ใช่เรื่องทุกข์ร้อนอะไรถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว ขอแค่วันนี้ยังมีข้าวกินอิ่ม นอนหลับสบาย มีเวลารักษาความสุขให้กับคนรอบข้างได้ มีบ้านและครอบครัวไว้พักพิงกายและใจ ก็ถือเป็นความสุขที่ครบถ้วนทุกด้านที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงมีได้แล้ว

เพราะสุดท้ายต่อให้รวยหรือจน...ทุกคนก็กินข้าวหนึ่งมื้อแล้วอิ่มเหมือนกัน 🙂