September 10, 2022

“Sustainable Company” ในวิถีของ NER

"พอใจ กำไร ยั่งยืน" เป็นนิยามของการตลาดสั้น ๆ 3 คำในมุมมองของรศ. ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี / อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อมองแนวคิดนี้เทียบกับการเป็น “Sustainable Company” ในวิถีของ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ก็เรียกได้ว่าสอดคล้องต้องกันอย่างมีนัยยะสำคัญและแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจรวมถึงราคาหุ้นในระยะยาวด้วย ประเด็นจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนจะพาทุกท่านไขไปทีละข้อ
ขยายความของ "พอใจ กำไร ยั่งยืน" ในมุมมองของ รศ. ดร.วิเลิศ ภูริวัชร

รศ. ดร.วิเลิศ ภูริวัชร กล่าวว่า ความพึงพอใจต้องมาก่อนกำไรเสมอและเมื่อสองสิ่งนี้เกิดซ้ำ ๆ สิ่งที่ตามมาคือความยั่งยืน โดยเมื่อตีความในบริบททั่วไปก็จะเข้าใจได้ว่า จะขายของสักชิ้นให้เกิดกำไร ก็ต้องทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจในการซื้อก่อน ซึ่งความพึงพอใจเป็นเหมือนส่วนตรงกลางของปีระมิดที่มีฐานมาจากการทำความรู้จักกันระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายและการพัฒนาความสัมพันธ์จากคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อน จากเพื่อนให้กลายเป็นว่าที่ลูกค้า และทำให้ว่าที่ลูกค้าเกิดความพึงพอใจที่จะซื้อเปลี่ยนสถานะไปเป็นลูกค้า จากนั้นเมื่อใช้สินค้าแล้วพึงพอใจก็จะเกิดการซื้อซ้ำ และซื้อซ้ำๆจนเกิดความผูกพัน หลังจากผูกพันนานเข้าก็แปรเปลี่ยนเป็นความรักในที่สุด

พอใจ กำไร ยั่งยืนและความรับผิดชอบในวิถีของ NER สู่การเป็น “Sustainable Company”

จากแนวคิดข้างต้นสามารถตีความได้ว่า กระบวนการทั้งหมดต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์อย่างจริงใจโดยมีตัวแปรคือ ระยะเวลาซึ่งถ้ามองเทียบในบริบทของ NER ก็จะเห็นว่ามีความสอดคล้องกับความเป็น “Sustainable Company” ในวิถีของเราอยู่มากทีเดียว

เพราะในบริบทของ NER กำไรจากการดำเนินธุรกิจที่แสดงในงบการเงินจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้นั้น ไม่ได้มีที่มาจากความพึงพอใจของลูกค้าแค่มิติเดียว แต่ต้องมาจากความพึงพอใจของสังคมรอบข้าง พนักงาน และสิ่งแวดล้อมด้วย

ถ้าหากมุ่งสร้างความพึงพอใจเพียงลูกค้าแค่มิติเดียวโดยไม่คำนึงถึงสังคมรอบข้าง พนักงาน และสิ่งแวดล้อม วันนี้เราอาจจะขายสินค้าได้กำไรก็จริง แต่วันข้างหน้าอาจเกิดการสไตรค์นัดหยุดงาน เกิดการประท้วงของชุมชนรอบข้างจากผลกระทบของการผลิตสินค้าในโรงงาน ไม่ว่าจะเรื่องเสียง กลิ่น มลภาวะ ผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อถึงความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ จนบานปลายกลายเป็นอุปสรรคในการผลิตสินค้าในที่สุด ซึ่งเมื่อผลิตไม่ได้ก็ขายสินค้าไม่ได้ ไม่มีรายได้ ส่งผลกระทบต่อผลกำไรและราคาหุ้นต่อไปเป็นโดมิโนเอฟเฟค

ดังนั้น การนึกถึงแต่ตัวเองจึงไม่ใช่วิถีของ NER ในการเป็น “Sustainable Company”  ซึ่งความรับผิดชอบในมุมของเราไม่ได้มีเพียงแค่การผลิตและขายสินค้าแต่รวมไปถึงการดูแลสังคมรอบข้างพนักงาน และสิ่งแวดล้อมด้วยความตั้งใจจริง เพื่อให้เกิด WIN-WIN Situation ที่ทุกภาคส่วนเข้าเส้นชัยไปพร้อมกัน

ความรับผิดชอบที่มีต่อชุมชนรอบข้าง ผ่านโครงการ"NER ส่งเสริมวิถีเกษตรชุมชนยั่งยืน"โครงการที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การปลูกผัก

หนึ่งโครงการที่ทำจริงเป็นรูปธรรมตามวิถีของ NER เพื่อการเป็น “Sustainable Company” คือ โครงการ "NER ส่งเสริมวิถีเกษตรชุมชนยั่งยืน" เป็นความร่วมมือระหว่างชุมชนในพื้นที่รอบโรงงานและ NER  โดยพื้นที่แปลงผักตามภาพ คือที่ดินของผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านบาตร หมู่ 10 จ.บุรีรัมย์ ที่เอื้อเฟื้อให้กับทาง NER ได้ใช้เป็นแปลงทดลองสำหรับปลูกผักโดยนำ "กากตะกอน" จากโรงไฟฟ้า Biogas ของเรามาทดแทนการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี ซึ่งสิ่งที่ได้รับกลับมาคือความสุขของชาวบ้านและพนักงานของ NER ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ใกล้เคียง

โดยครั้งนี้ถือเป็นช่วงเวลาทดลองเพื่อพิสูจน์ผลว่า "กากตะกอน" จากโรงไฟฟ้าBiogasของเราใช้ประโยชน์ได้จริง และหลังจากนี้จะทำการขยายผลด้วยการให้ความรู้แก่ชาวบ้านในพื้นที่และแจกจ่าย "กากตะกอน" ดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในโอกาสถัดไป และหากลองมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่าโครงการนี้ได้แฝงอีกหนึ่งนโยบายหลักของ NER ที่ว่าด้วยการจัดการของเสียให้เป็นศูนย์หรือ Zero-Waste Management ด้วย

เอาของเสียมาใช้ให้เกิดประโยชน์ซ้ำแล้วซ้ำอีก : วิถี Zero-Waste วิถีของ NER เพื่อการเป็น “Sustainable Company”

"กากตะกอน" ที่ใช้ในการปลูกผักในแปลงทดลอง มีที่มาจากโรงไฟฟ้า Biogas ของเราที่กำลังการผลิตอยู่ที่ 4 เมกกะวัตต์ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้มาจากของเสียในกระบวนการผลิตและการเกษตร หมักบ่มด้วยกรรมวิธีอุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสมจนได้ออกมาเป็นแก๊ส เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเดินเครื่องปั่นไฟผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน

และเมื่อเครื่องปั่นไฟทำงานจากแก๊สดังกล่าวจนได้กระแสไฟฟ้าออกมา ก็จะมีการนำน้ำร้อนจากกระบวนการหล่อเย็นระบายความร้อนในเครื่องปั่นไฟ มาเข้าสู่เครื่อง Heat Exchange อีกต่อหนึ่งเพื่อแลกเปลี่ยนความร้อนจากน้ำหล่อเย็นสู่น้ำที่ใช้ในการหมักบ่ม และเติมกลับเข้าสู่ถังหมัก Biogas เพื่อปรับอุณหภูมิภายในถังหมักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป

และสุดท้ายหลังจากที่ดำเนินครบจบกระบวนการ ก็จะมี "กากตะกอน" ที่หลงเหลืออยู่จากกระบวนการผลิต Biogas ให้เราก็ตักออกมาเพื่อใช้ในโครงการนี้ต่อไป

เรียกได้ว่าเป็นการเอา "ของเสีย" มาใช้ประโยชน์ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนจบครบกระบวนการ

บทสรุปของโครงการ.. ทำแล้วได้อะไร ?

บทสรุปของโครงการสามารถมองตามแนวคิดนิยามการตลาดของ รศ. ดร.วิเลิศ ภูริวัชรได้ดังนี้

  • มุมของความพึงพอใจ – ประเมินจากการสังเกต “ความสุข” ของภาคส่วนที่เข้าร่วมโครงการทั้งชุมชนและพนักงานในโรงงานถือว่าผ่าน
  • มุมมองของกำไร – ประเมินจากผลผลิตจากแปลงผักในโครงการนี้ที่ถือเป็นตัวชี้วัดผลการใช้งานกากตะกอนจาก Biogas ได้เป็นอย่างดี ส่วนกำไรที่มองไม่เห็นคือผลกระทบด้านบวกที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และความสัมพันธ์อันดีระหว่างพนักงานกับชุมชนรอบข้าง ส่วนกำไรที่เกิดจากการประหยัดต้นทุนภายในองค์กรถือเป็นผลพลอยได้ของ NER
  • มุมมองของความยั่งยืน – เกิดขึ้นได้เมื่อทุกสิ่งที่กล่าวมาเกิดซ้ำๆทั้งนโยบาย Zero-Waste, ความพึงพอใจของทุกภาคส่วน, กำไรที่เกิดขึ้นทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น เกิดซ้ำ ๆ จนกลายเป็นความยั่งยืนจนเป็น “Sustainable Company” ในวิถีของ NER ในที่สุด